ประวัติ

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2499 คณะมัณฑนศิลป์ ได้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยดำริของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี และดำเนินการเปิดสอนในสาขาวิชาศิลปตกแต่ง (Decorative Arts) ในปีการศึกษานั้น โดย พระยาอนุมานราชธน (เสฐียร โกเศศ) ได้บัญญัติชื่อภาษาไทยว่า “คณะมัณฑนะศิลป์” แต่ต่อมา ในปี พ.ศ. 2517 ได้มีการดำเนินการปรับแก้ให้ถูกต้องกับภาษาเขียนเป็น “คณะมัณฑนศิลป์” และศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้จัดสร้างหลักสูตร สาขาวิชาศิลปตกแต่ง 4 ปี (อนุปริญญา 3 ปี ปริญญาตรี 4 ปี) มีท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี รักษาการในตำแหน่งคณบดี และหลวงวิเชียร แพทยาคม (อธิบดีกรมศิลปากรในเวลานั้น) รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร (เทียบเท่าอธิการบดีมหาวิทยาลัย)

ระหว่าง พ.ศ. 2499 – 2516 คณะมัณฑนศิลป์ จัดการศึกษาเพียงสาขาวิชาเดียว คือ สาขาวิชาศิลปตกแต่ง แต่ในเวลานั้น เรียกชื่อว่าสาขาวิชามัณฑนศิลป์ ตามชื่อคณะวิชา โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ อนุปริญญา หลักสูตร 3 ปี และ ระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ผู้สำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิ อนุปริญญาศิลปบัณฑิต (มัณฑนศิลป์) หรือปริญญาศิลป บัณฑิต (มัณฑนศิลป์) ตามลำดับ

ระหว่าง พ.ศ. 2499 – 2516 คณะฯ ได้มีการปรับปรุง และพัฒนาโครงสร้างหลักสูตร เป็นการจัดการศึกษาเฉพาะระดับปริญญาตรี ไม่มีระดับอนุปริญญา พร้อมทั้งขยายสาขาวิชาเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน คณะมัณฑนศิลป์ เปิดสอนเพื่อผลิตบัณฑิตระดับ ปริญญาตรี 7 สาขาวิชา คือ สาขาการออกแบบภายใน สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ สาขาประยุกตศิลปศึกษา สาขาเครื่องเคลือบดินเผา สาขาการออกแบบเครื่องประดับ และสาขาการออกแบบเครื่องแต่งกาย และเพื่อเป็นการส่งเสริมการศึกษา ในระดับที่สูงขึ้น คณะได้ เปิดสอนปริญญาโท 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาการออกแบบ สาขาศิลปะและการออกแบบ (นานาชาติ) สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์ สาขาการออกแบบเครื่องประดับ และสาจาการออกแบบนิเทศศิลป์ ปริญญาเอก 3 สาขาวิชาได้แก่ สาขาการออกแบบ สาขาศิลปะและการออกแบบ (นานาชาติ) สาขาศิลปะและการออกแบบเชิงวัฒนธรรม

พันธกิจ

  1. ผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะสูงด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
  2. ผลิตผลงานวิจัย/งานสร้างสรรค์ที่สร้างประโยชน์ต่อสังคม
  3. ให้บริการวิชาการที่สามารถสร้างคุณค่า มูลค่า และสนองต่อความต้องการของสังคม
  4. สืบสานและต่อยอด ภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมไทยในกระบวนการเรียน การสอน การวิจัย/สร้างสรรค์ และการบริการวิชาการ

วิสัยทัศน์

คณะวิชาชั้นนำด้านการศึกษาการออกแบบของภูมิภาคอาเซียน และเป็นที่พึ่งของสังคม

วัฒนธรรม

ความงาม ความคิดสร้างสรรค์ เป็นประโยชน์

© สงวนลิขสิทธิ์ 2558, คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร