ขอแสดงความยินดีกับ นายกรกต อารมณ์ดี ศิษย์เก่าหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการออกแบบ (หลักสูตรนานาชาติ) และศิลปมหาบัณฑิต สาขาประยุกตศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ เนื่องในโอกาสได้รับรางวัล Her Awards, UNFPA Thailand 2024

วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2567

ขอแสดงความยินดีกับ นายกรกต อารมณ์ดี ศิษย์เก่าหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาศิลปะการออกแบบ (หลักสูตรนานาชาติ) และศิลปมหาบัณฑิต สาขาประยุกตศิลปศึกษา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้รับรางวัล Her Awards, UNFPA Thailand 2024 ประชากรชายผู้สร้างแรงบันดาลใจ ประจำจังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2567 ณ ห้องประชุม ESCAP HALL องค์การสหประชาชาติ ราชดำเนิน กรุงเทพฯ จัดโดย กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ร่วมกับบริษัท ทีวีบูรพา จำกัด และบริษัท นินจา เพอร์เฟคชั่น จำกัด

(อ้างอิงจาก Thailand Biennale Chiang Rai 2023 – https://www.thailandbiennale.org/artists/korakot-aromdee/)

กรกต อารมย์ดี เป็นศิลปินและนักออกแบบชาวไทยที่มีวิสัยทัศน์ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและการออกแบบที่โดดเด่น ผลงานของเขามีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นของอำเภอบ้านแหลม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตทรัพยากรประมงที่สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี ภาพความทรงจำในวัยเด็กที่รายล้อมด้วยกิจกรรมบนท้องทะเลและศิลปะการทำว่าวของอาก๋งคือแรงบันดาลใจสำคัญที่จุดประกายให้สนใจสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและงานฝีมือในปัจจุบัน

กรกตใช้แรงบันดาลใจที่ได้จากเทคนิคในการมัด ผูก และจักสานไม้ไผ่ของคนบ้านแหลมที่ใช้ในการประดิษฐ์เครื่องมือประมงและการทำว่าวมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากไม้ไผ่ภายใต้แบรนด์ “KORAKOT” ผลงานของเขาได้รับการยอมรับในระดับสากล และมีแบรนด์ชื่อดังอย่าง Hermes และ Louis Vuitton และร้านอาหาร โรงแรม และรีสอร์ทชื่อดังอีกหลายแห่งทั่วโลกที่เลือกนำผลงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นของกรกตมาใช้ตกแต่งสถานที่แบรนด์ของตนเอง ผลงานของเขายังได้รับคัดเลือกให้จัดแสดงที่นิทรรศการ MAISON & OBJET ที่ประเทศฝรั่งเศสด้วย โดยปัจจุบันกรกตได้ต่อยอดผลงานไปยังเครื่องเรือน จนถึงสถาปัตยกรรมโรงแรม THE BUFFALO CAFÉ จังหวัดสมุทรสงคราม

ขณะศึกษาระดับปริญญาโทด้านประยุกตศิลปศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร กรกตได้นำเอาเทคนิคการผูกและมัดแบบดั้งเดิมมาผสานเข้ากับการสร้างสรรค์ศิลปะแบบสมัยใหม่ ทำให้เขาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากไม้ไผ่ในรูปแบบของตัวเองที่มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับงานหัตถกรรมท้องถิ่นได้อย่างมีคุณค่าและความหมาย ซึ่งนอกจากจะเป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างโดดเด่นแล้วนั้น กรกตยังช่วยสร้างอาชีพให้ชุมชน โดยช่วยให้ลูกหลานชุมชนประมงบ้านแหลมมีโอกาสประกอบอาชีพและสร้างรายได้ รวมถึงช่วยอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนแห่งนี้ ผลงานศิลปะที่กรกตสร้างสรรค์เน้นย้ำให้เห็นถึงความผูกพันอันใกล้ชิดระหว่างศิลปะ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงศักยภาพของการนำเอา “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” มาใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ต่อยอดต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน

Her Awards, UNFPA Thailand เป็นรางวัลอันทรงคุณค่า เพื่อเชิดชูเกียรติ บุคคล หน่วยงานและองค์กร ผู้อุทิศตนทำงานขับเคลื่อน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพประชากรทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังของผู้หญิงและเด็กหญิง รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ครอบคลุมในทุกมิติ โดยผ่านกระบวนการพิจารณาคุณสมบัติและตัดสินขั้นตอนที่ 1 การตรวจสอบคุณสมบัติ สัมภาษณ์โดยตรง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากบุคคลแวดล้อมหรือองค์กรคู่ขนาน จากคณะทำงาน ขั้นตอนที่ 2  การตัดสินรอบที่ 1 จากคณะอนุกรรมการประกอบด้วย ตัวแทนจาก โดย UNFPA Thailand, บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด, บริษัท นินจา เพอร์เฟคชั่น จำกัด และทีมคัดสรร ขั้นตอนที่ 3  การคัดเลือกรอบสุดท้าย จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การทำงานด้านประชากรในทุกมิติ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงสาธารณสุข, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, โมเดิร์นไนน์ ทีวี, UNFPA และตัวแทนเด็กและเยาวชน

(SDG 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีประสิทธิภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน เศรษฐกิจฐานราก ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ท่องเที่ยวยั่งยืน)
(SDG 8.3 ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพ การสร้างงานที่สมควร ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม และส่งเสริมการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อยขนาดเล็ก และขนาดกลาง ซึ่งรวมถึงผ่านทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน)
(SDG 8.9 ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี 2573)

 

เครติดภาพจาก : https://www.facebook.com/share/p/1F6okCNzQZ/

ประกาศอื่นๆ

© สงวนลิขสิทธิ์ 2558, คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร