การพัฒนาสื่อเชิงสร้างสรรค์เพื่อช่วยยกระดับความสามารถด้านความจำสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในการต่อยอดสู่กระบวนการออกแบบหัตถกรรมเชิงพาณิชย์

วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2567
ชื่อ-นามสกุล
วินิตา คงประดิษฐ์, รานี เสงี่ยม
ภาควิชา
คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
ชื่อผลงาน
การพัฒนาสื่อเชิงสร้างสรรค์เพื่อช่วยยกระดับความสามารถด้านความจำสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในการต่อยอดสู่กระบวนการออกแบบหัตถกรรมเชิงพาณิชย์

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 1) พัฒนาสื่อเชิงสร้างสรรค์เพื่อช่วยยกระดับความสามารถด้านความจำสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในการต่อยอดสู่กระบวนการออกแบบหัตถกรรมเชิงพาณิชย์ 2) เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่เสริมสร้างสมรรถนะทักษะในการสร้างสรรค์สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล 3) เพื่อส่งเสริมต่อยอดความสามารถจากการเรียนรู้ของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในการประกอบอาชีพและได้รับจ้างงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูลภาคสนาม ใช้ทฤษฎีความจำสองกระบวนการ ทฤษฎีการสลายตัว และแนวคิดเชิงออกแบบ เป็นกรอบการวิจัย พื้นที่วิจัยคือ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินจำนวน 10 คน ผลการวิจัยพบว่า การใช้สื่อสมุดบันทึกเชิงสร้างสรรค์ด้วยกระบวนการบันทึกแบบ “บูโจ” ประกอบกับการใช้แผนภาพ ภาพร่าง และการจดคำจากการแปลของล่ามภาษามือไทยที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อแบบเฉพาะเจาะจง จัดรูปเล่มตามรสนิยมของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินซึ่งทำการบันทึกด้วยตนเองนั้น สามารถกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ศึกษาทบทวน และยกระดับความสามารถด้านความจำในระดับที่ดีขึ้น มีสัดส่วนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยผู้เรียนด้านศิลปะและการออกแบบที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอดในการออกแบบสร้างสรรค์หัตถกรรมเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป

Link to Journal

วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม Volume 43, Issue 4, 2024, pp.679-692

© สงวนลิขสิทธิ์ 2558, คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร